มือโปรดาวเรือง ประจำจังหวัดพิษณุโลก พี่ดำและพี่นัท ผู้ปลูกดาวเรืองด้วยหัวใจ l The Grow Together EP.1

3130 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มือโปรดาวเรือง ประจำจังหวัดพิษณุโลก พี่ดำและพี่นัท ผู้ปลูกดาวเรืองด้วยหัวใจ l The Grow Together EP.1

“ทำดอกไม้ ทิ้งไม่ได้เลย ทำแล้วมันต้องดูแล” นี่คือความเห็นของ พี่ดำและพี่นัท เจ้าของผู้แปลงดาวเรืองกว่า 20,000 ต้น ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ที่มีต่ออาชีพและแปลงดาวเรืองสีเหลืองอร่ามของเขา

สวัสดีครับ คอลัมน์ The Grow Together วันนี้พามาทำความรู้จักพี่ดำและพี่นัท เจ้าของแปลงดาวเรือง ที่จังหวัดพิษณุโลก ที่ช่วยกันทำแปลงดาวเรืองสีเหลือง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ทเวนตี้เยลโล่ 289 และสายพันธุ์ซันชายพลัส 299+ ซึ่งคนในวงการดาวเรืองจะเรียกว่า “ดาวไข่” บนพื้นที่กว่า 3  ไร่ จำนวนกว่า 20,000 ต้น โดยแบ่งเป็น สายพันธุ์ทเวนตี้เยลโล่ 289 จำนวน 4,000 ต้น และ สายพันธุ์ซันชายพลัส 299+ จำนวน 16,000 ต้น จากเดิมที่ทำการปลูกเพียงสายพันธุ์ทเวนตี้เยลโล่ 289 เพียงเท่านั้น 



เรื่องเล่าก่อนเป็นแปลงดาวเรือง

       พี่ดำและพี่นัท บอกเล่ากับเราเกี่ยวกับจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะมาเป็นแปลงดาวเรืองในทุกวันนี้ “เมื่อก่อนพี่ไม่ได้มาทำแปลงดาวเรืองหรอกนะ ที่ตรงนี้ก็ไม่ใช่แปลงดาวเรือง เคยเป็นพื้นที่ ที่เขาปลูกข้าว ปลูกอ้อยมาก่อน สายน้ำหยดที่เขาทำไว้ยังทิ้งอยู่เลย ตอนหลังเขาเลิกทำ ก็ให้พี่มาทำ พี่ก็เลยมาปลูกดาวเรืองนี่แหละ ช่วงแรกก็ทั้งไถ่ ทั้งพรวน อยู่ 3-4 รอบ เพื่อปรับสภาพดิน ก่อนที่จะเริ่มทำการเพาะเมล็ด”

       ในช่วงแรก พี่ดำและพี่นัท ก็เป็นผู้ปลูก ที่ปลูกพืชผักสวนครัวมาก่อน ซึ่งจุดเริ่มต้นคือการที่ทางพี่สาวชักชวนเพื่อให้หันมาลองปลูกดาวเรืองตัดดอก ทั้งคู่ก็ให้ความสนใจอย่างมากและได้เริ่มต้นทดลองปลูก ก่อนที่จะมาปลูกดาวเรืองตัดดอกจนเป็นอาชีพในทุกวันนี้

ทำไมถึงเลือกสายพันธุ์ 289 และ 299+ ?

“ปลูกครั้งแรก พี่ก็ปลูกสายพันธุ์ 289 เลย แล้วผลผลิตที่ได้ก็ดีมากๆ ชอบตรงที่ขนาดดอกใหญ่ กลีบดอกแน่น พี่ไม่ได้โกหกนะ สายพันธุ์ 289 ดอกใหญ่นานมาก เล็กก็ช้า กลีบไม่เหี่ยว ไม่ยุบ อยู่ทรงนาน ก็เลยติดใจ ปลูกมาเรื่อยๆ”

“ครั้งนี้ก็ทดลองปลูกสายพันธุ์ 299+ เพราะเขาแนะนำมา ก็ทดลองปลูกไป 16,000 ต้น ผลผลิตที่ได้ก็ดีมาก คล้ายกับ 289 เลย แม่ค้าที่รับดอกไปต่อก็ชอบ”

ผลตอบรับจากตลาดเป็นอย่างไรบ้าง

พี่ดำและพี่นัท ยังบอกเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกดาวเรืองตัดดอก ทั้ง 2 แบบในพื้น

ผลตอบรับค่อนข้างดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีความต้องการใช้ดาวเรืองตัดดอกที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งสองก็เลือกที่จะปลูกเพื่อให้ตอบกับความต้องการของตลาด “ที่นี่เขาชอบสีเหลืองแบบนี้กัน แม่ค้าในพื้นที่ชอบทั้งแบบเด็ดดอกและแบบก้านยาว พี่เอามาทดลองปลูกคู่ ก็ชอบนะ เป็นคู่หูกันทั้งดก ทั้งใหญ่ กลีบดอกก็แน่น ใส่เครื่องปั่นดอกดาวเรืองกลีบดอกยังไม่ยุบเลยนะ ที่เคยทำมาก็ตัดได้ 15 – 16 มีด ช่วงเทศกาลเขาจะเอา 40,000-50,000 ดอก พวกพี่ตัดกันไม่ทันเลยแหละ ”

ปัญหาที่พบและขั้นตอนการดูแลเป็นอย่างไร
         
พี่ดำและพี่นัทชักชวนให้เราเดินชมแปลง ซึ่งก็สร้างความสงสัยให้เราค่อนข้างมาก เพราะเป็นการดูแลแปลงดาวเรืองได้เป็นอย่างดี ก่อนที่เราจะถามทั้งคู่ว่า กว่าจะได้แปลงนี้มา มีปัญหาอะไรบ้างหรือไม่ ?

พี่ดำและพี่นัทเอง ก็ตอบกลับด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ “ปัญหาตั้งแต่ทำมา ก็ไม่มีนะ เพราะเราเรียนรู้จากประสบการณ์มาตลอด แปลงนี้เลยไม่มีปัญหาเลย บางครั้งเราก็หวังจะให้ผลผลิตมันออกมาไวๆ เราก็อัดยา อัดปุ๋ย เร่งมันเยอะๆ ตูดมันก็แตก เร่งฮอร์โมนมากๆ มันก็ไม่ดีหรอก มีหลายคนมาถามว่าต้องทำยังไง ก็เอาประสบการณ์และคำแนะนำไปบอก เขาก็ทำได้ดีกันหมด บางคนแปลงแรกก็ทำได้ดีเลยก็มี”

เราปิดด้วยคำถามทิ้งท้ายว่า อะไรคือเทคนิคที่ทำให้แปลงดาวเรืองของพี่ทั้งสองคนออกมาดี พี่นัทแสดงรอยยิ้มออกมาแล้วตอบสั้นๆ “ความใส่ใจ” ก่อนที่พี่ดำจะพูดเสริมด้วยประโยคที่เรายังคงรู้สึกถึงความรักที่ทั้งสอง มีต่อแปลงดาวเรืองตัดดอกของพวกเขา “ทำดอกไม้ ทิ้งไม่ได้เลย ทำแล้วมันต้องดูแล” นี่ละเทคนิค

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้